ทฤษฎีการพยาบาลไนติงเกล

From learnnshare
Revision as of 07:12, 26 April 2016 by Aekachai.m (Talk | contribs)

Jump to: navigation, search

ทฤษฎีการพยาบาลไนติงเกล

    ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (คศ. 1820-1910) ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาล เกิดในตระกูลชั้นสูงที่มั่งคั่งของประเทศอังกฤษ ในวัยเยาว์ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มีความสนใจในการช่วยเหลือบุคคลอื่นที่มีความทุกข์

    เมื่อโตขึ้นเธอจึงเป็นคนเคร่งศาสนาและมีความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ให้เธอมาช่วยเหลือคนอื่นเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ แม้ว่าครอบครัวไม่ต้องการให้เธอเป็นพยาบาล เพราะก่อนหน้านี้พยาบาลไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผู้ที่เข้ามาทำงานด้านนี้จะเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำและนักโทษ คนยากจน ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่ได้รับความทุกข์ทรมานเนื่องจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เกิดจากโรคหลังจากที่ไนติงเกลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการพยาบาลใหม่ ทำให้ภาพลักษณ์ของพยาบาลดีขึ้นเธอได้รับชื่อเสียงจากการอุทิศตนดูแลทหารที่เจ็บป่วยระหว่างสงครามไครเมีย โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามวิกาล จนได้ชื่อว่า “The lady with the lamp”

    ไนติงเกลเป็นผู้นำด้านทฤษฎีการพยาบาล ได้เขียนหนังสือเรื่อง “Notes on Nursing” ซึ่งกล่าวถึง กฎของการพยาบาล (Laws of Nursing) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ของ บุคคล สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพยาบาล โดยเน้นกิจกรรมที่มุ่งปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อดำรงไว้ซึ่งการมีภาวะสุขภาพดีของบุคคลปกติหรือบรรเทาความทุกข์ทรมานของบุคคลที่เจ็บป่วย

    มโนทัศน์หลักทั้ง 4 ในทฤษฎีการพยาบาลของไนติงเกล มีดังนี้

Nurse1.png

มโนทัศน์หลักทั้ง 4 ในทฤษฎีการพยาบาลของไนติงเกล

บุคคล

    บุคคลตามความเชื่อของไนติงเกล ประกอบด้วย ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคมและวิญญาณ บุคคลทุกคนมีความทัดเทียมกัน ต่างกันที่ชีวสาร ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อและโรคที่เป็นอยู่ ไนติงเกล เน้นด้านร่างกายผู้ป่วยและกล่าวถึงด้านจิตใจด้วยเช่น กระบวนการคิด อัตมโนทัศน์ ความรู้สึกและสติปัญญา

    ไนติงเกลกล่าวว่า บุคคลที่เจ็บป่วยจะมีกระบวนการหายที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม กิจกรรมของพยาบาล การรักษาทางยาและการผ่าตัดโดยธรรมชาติ บุคคลจะมีศักยภาพและความรับผิดชอบต่อกระบวนการหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของบุคคลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพของบุคคลและชุมชนโดยรวม

สิ่งแวดล้อม

    เป็นมโนทัศน์ที่เป็นหัวใจของทฤษฎีการพยาบาลนี้ โดยไนติงเกลกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมากกว่าสิ่งแวดล้อมทางจิตสังคม ทั้งนี้เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมทางกายภาพในยุคนั้น(ช่วงต้นศตวรรษที่ 19) ได้รับความเสียหายมากจากสงคราม โรงพยาบาลขาดสุขาภิบาลเต็มไปด้วยความสกปรก ทหารนอนตายเกลื่อนกลาด การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมจึงเป็นความจำเป็นอันดับแรกที่จะช่วยให้ทหารที่เจ็บป่วยมีชีวิตรอด

    สิ่งแวดล้อมตามแนวคิดของไนติงเกล หมายถึง สภาวการณ์ต่างๆที่อยู่ภายนอกตัวบุคคล ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตและพัฒนาการของบุคคล ที่สำคัญสิ่งแวดล้อมสามารถยับยั้งหรือป้องกันการเกิดโรคได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถแพร่กระจายโรค ทำให้เกิดโรคหรือถึงแก่ความตายได้

    ไนติงเกลแบ่งสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ชนิด คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางจิตใจ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม สิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ชนิดนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกันและมีอิทธิพลโดยตรงต่อสุขภาพหรือกระบวนการหายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

    สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical environment) ประกอบด้วย ความสะอาด การระบายอากาศ อากาศบริสุทธิ์ แสงสว่าง น้ำ การระบายของเสีย อาหาร เตียง และความอบอุ่น ความสะอาดจะเป็นพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่กล่าวแล้วทั้งหมด

    ไนติงเกลให้ความสำคัญกับการระบายอากาศที่ดีเป็นอันดับแรก ได้แก่ อากาศบริสุทธิ์ ปราศจากฝุ่นละออง รองลงมาคือ แสงสว่างโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ส่วนความอบอุ่น กลิ่น เสียง และอื่นๆ เป็นสิ่งที่ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างเสริมบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

    สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดีช่วยป้องกันการเกิดโรคและส่งเสริมกระบวนการหายตามธรรมชาติ ได้แก่ ความสะอาดทั่วไป การระบายอากาศที่ดี อากาศและน้ำบริสุทธิ์ แสงสว่างที่พอเพียง เสียงที่พอเหมาะ และความอบอุ่น ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ขัดขวางต่อการมีสุขภาพดีทำให้เกิดโรค หรือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการหายตามธรรมชาติ ได้แก่ ความสกปรก ฝุ่นละออง ความมืดทึบ ความอับชื้น กลิ่นเหม็น และความหนาวเหน็บ

สิ่งแวดล้อมทางจิตใจ (Psychological environment)

    ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตใจเป็นสิ่งที่ยอมรับกันอย่างดีในสมัยของไนติงเกล อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางร่างกายที่มีผลต่อสภาพจิตใจของบุคคล นั่นคือ หากสิ่งแวดล้อมด้านร่างกายไม่เหมาะสม จะกระทบต่ออารมณ์ของคน โดยบุคคลจะเกิดความเครียด เบื่อหน่าย ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสภาพจิตใจ ดังนั้นบุคคลที่เจ็บป่วยจึงต้องการการดูแลด้านจิตใจจากสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมอาจก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อจิตใจผู้ป่วยด้วย เช่น การจัดอาหารที่อุ่นและน่ารับประทาน การมีภาพข้างฝาผนังที่ให้ความสดชื่น เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social environment)

    เป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่อยู่ในชุมชนมีอิทธิพลต่อการป้องกันการเกิดโรค และส่งเสริมกระบวนการหาย เช่นเดียวกัน ไนติงเกลไม่ได้มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลเท่านั้นแต่ยังมองไปถึงบ้านและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เธอกล่าวว่า การรักษาสุขอนามัยภายในบ้านที่สำคัญ 5 ประการ คือ อากาศที่บริสุทธ์ น้ำสะอาด มีการระบายของเสียที่ดี มีแสงสว่างพอเพียง และความสะอาดทั่วๆไป

สุขภาพ

    ภาวะสุขภาพเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ของบุคคลกับสิ่งแวดล้อมทั้งด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านสังคม การมีสุขภาพดีไม่ได้หมายถึงไม่เกิดโรคเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ได้ ส่วนการเจ็บป่วยจะมีกระบวนการซ่อมแซมที่เกิดตามธรรมชาติตามมา เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ

การพยาบาล

    ไนติงเกล กล่าวถึง การพยาบาลว่าเป็นหน้าที่ของสตรีที่ดูแลสุขภาพของบุคคล ทั้งในภาวะปกติหรือระหว่างการเจ็บป่วย โดยไนติงเกลแบ่งการพยาบาลออกเป็น 2 ประเภท คือการพยาบาลในภาวะสุขภาพดี (health nursing) และในภาวะเจ็บป่วย (sick nursing)

     การพยาบาลในภาวะสุขภาพดี เป็นศิลปะการพยาบาลที่สตรีทุกคนควรปฏิบัติได้ เพราะเป็นกิจกรรมธรรมชาติที่ทุกคนควรรู้ เพื่อการป้องกันโรคและดำรงไว้ซึ่งการมีสุขภาพดี ผู้ทำหน้าที่พยาบาลต้องเข้าใจกฎแห่งชีวิตและกฎแห่งสุขภาพอย่างถ่องแท้ กิจกรรมการพยาบาลมุ่งเน้นการสอนและแนะนำให้บุคคลเห็นความสำคัญของการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพดี ทั้งในด้านการสุขาภิบาลและสุขอนามัยภายในที่อยู่อาศัยและในชุมชน

     การพยาบาลในภาวะเจ็บป่วย เป็นศาสตร์และศิลปะในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เจ็บป่วยให้พ้นจากทุกข์ทรมาน จึงต้องมีความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ สถิติ สุขาภิบาลและตรรกศาสตร์ การบริหาร การสาธารณสุข กฎแห่งสุขภาพ และกฎแห่งการเจ็บป่วยและอาการและอาการแสดงของโรค เป้าหมายของการพยาบาล คือ การจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเพื่อให้ธรรมชาติได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ กิจกรรมการพยาบาลจึงเป็นการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมกระบวนการหายที่เกิดตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือ พยาบาลต้องมีทักษะการสังเกต ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วยแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกฝน ไนติงเกลกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการพยาบาลกับการแพทย์ว่า แพทย์เกี่ยวข้องกับการบำบัดโรคและความเจ็บป่วย ในขณะที่พยาบาลเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เจ็บป่วย

ความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์หลัก

    กล่าวคือ สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของบุคคล การพยาบาลมีบทบาทในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การเจ็บป่วยทุเลาลงหรือเพื่อการมีสุขภาพดี

    การประยุกต์ทฤษฏีการพยาบาลของไนติงเกลกับกระบวนการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 1 การประเมินสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพ